วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พันธะเคมีของอะตอม

ทุกสิ่งที่อยู่บนโลกใบนี้เกิดจากหน่วยเล็ก ๆ ที่เรียกว่า อะตอม (Atom) อันที่จริงมันมีสิ่งที่เล็กมากกว่านี้แต่ด้วยระดับความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย จับต้องได้ง่ายกว่า ส่วนใหญ่แล้วเราจึงเรียนรู้อยู่ในระดับอะตอม มันอาจจะเป็นอะตอมของธาตุเดี่ยว ๆ หรืออาจจะเกิดการจับคู่ของอะตอมตั้งแต่ 2 อะตอมขึ้นไป และสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างอะตอม เรียกว่า พันธะเคมี (Chemical Bond)

 

พันธะเคมีของอะตอม คือ แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับตัวอะตอมเอง เพราะหากมันไม่เกิดการจับตัวกันระหว่างอะตอม ก็อาจจะไม่มีโมเลกุล สสาร สารประกอบ เนื้อเยื่อ อวัยวะ ร่างกาย หรือหน่วยของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตต่าง ๆ ที่อยู่บนโลกนี้เกิดขึ้นได้เลย มันคงจะเป็นแค่อะตอมซึ่งล่องลอยอย่างอิสระไปทั่ว เมื่ออะตอมจับตัวอยู่ด้วยกันจะได้เป็นโมเลกุล โดยแต่ละโมเลกุลก็จะจับตัวกันมากขึ้น เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนมากขึ้น




พันธะไอออนิก (
Ionic Bond)

          คือ พันธะที่เกิดขึ้นระหว่างอะตอมซึ่งมีประจุขั้วตรงข้าม จากแรงดึงดูดทางไฟฟ้าระหว่างประจุบวก (Cation) และประจุลบ (Anion) ซึ่งยึดเหนี่ยวอะตอมเข้าหากัน เป็นพันธะที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายอิเล็กตรอนวงนอกสุดระหว่างอะตอม เพื่อทำให้เวเลนต์อิเล็กตรอนของทั้งคู่มีจำนวนเต็มตามกฎออกเตต โดยส่วนใหญ่ พันธะไอออนิก มักเกิดขึ้นระหว่างอะตอมของโลหะ (Metals) กับอโลหะ (Nonmetals) เนื่องจากอะตอมของกลุ่มธาตุโลหะ มักมีค่าพลังงานไอออไนเซชัน (Ionization Energy) หรือค่าความสามารถในการยึดเหนี่ยวอิเล็กตรอนไว้ต่ำ ดังนั้น โลหะจึงมีแนวโน้มที่จะสูญเสียอิเล็กตรอนให้อะตอมกลุ่มอโลหะสูง อย่างเช่น การเกิดของสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) หรือเกลือ ซึ่งเกิดจากอะตอมของโซเดียม (Na) ที่สูญเสียอิเล็กตรอนวงนอกสุด 1 ตัว ให้แก่อะตอมของคลอรีน (Cl) ที่มีอิเล็กตรอนวงนอกสุด 7 ตัว ซึ่งการรวมตัวกัน ทำให้อะตอมของทั้งคู่มีจำนวนอิเล็กตรอนวงนอกสุดครบ 8 ตัว ตามกฎออกเตตนั่นเอง



พันธะโลหะ (Metallic Bond)

          เป็นพันธะซึ่งเกิดขึ้นกับอะตอมของธาตุที่เป็นโลหะ เกิดขึ้นเมื่ออะตอมของโลหะแบ่งกันใช้อิเล็กตรอนวงนอกสุดของอะตอม โดยที่อิเล็กตรอนที่แบ่งกันใช้นี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอะตอมใดอะตอมหนึ่งโดยสมบูรณ์ และนั่นทำให้มีการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนอยู่ตลอดเวลา ทุก ๆ อะตอมของโลหะจึงอยู่ใกล้กับอะตอมอื่นยาวไปอย่างไม่สิ้นสุด และนั่นทำให้ธาตุโลหะไม่มีสูตรโมเลกุล



พันธะโคเวเลนต์ (Covalent Bond)

          เป็นการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันของอะตอมคู่หนึ่ง ซึ่งอะตอมคู่นี้เป็นอะตอมของธาตุอโลหะ คุณสมบัติของอะตอมธาตุอโลหะคือ มีค่าพลังงานไอออไนเซชั่น (Ionization) สูง กล่าวคือ ความสามารถในการยึดเหนี่ยวอิเล็กตรอนเอาไว้ ไม่ยอมปล่อยให้อะตอมอื่นเอาไปใช้ได้ จึงทำให้อะตอมที่มาจับเข้าคู่กันจำเป็นต้องแบ่งปันอิเล็กตรอนกันโดยไม่มีอะตอมไหนสูญเสียอิเล็กตรอนออกไป โดยหลักแล้วคือ การแบ่งปันโดยยอมให้อะตอมอื่นใช้อิเล็กตรอนได้จำนวนเท่า ๆ กันกับที่ดึงดูดอิเล็กตรอนจากอะตอมอื่น นั่นก็เพื่อให้อิเล็กตรอนวงนอกสุดของอะตอมครบจำนวนตามกฎออกเตต





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อาหาร 5 หมู่